น้ำมันหอมระเหย essential oils

คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด

น้ำมันหอมระเหย Essential Oils

น้ำมันหอมระเหยเป็นน้ำมันที่พืชผลิตขึ้นตามธรรมชาติเก็บไว้ตามส่วนต่างๆ เช่น กลีบดอก ใบ ผิวของผล เกสร รากหรือเปลือกของลำต้น เวลาที่ได้รับความร้อนอนุภาคเล็กๆของน้ำมันหอมเหล่านี้จะระเหยออกมาเป็นไอรอบๆทำให้เราได้กลิ่นหอม อบอวลไปทั่ว ช่วยดึงดูดแมลงให้มาผสมเกสรดอกไม้ ปกป้องการรุกรานจากศัตรูและการรักษาความชุ่มชื้นแก่พืช สำหรับประโยชน์ต่อมนุษย์นั้น น้ำมันหอมระเหยมีคุณสมบัติในการฆ่าเชื้อโรค บรรเทาอาการอักเสบหรือลดบวม คลายเครียด หรือกระตุ้นให้สดชื่น ทั้งนี้ขึ้นกับองค์ประกอบทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด

น้ำมันหอมระเหยกับร่างกายเรา

น้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิดมีองค์ประกอบทางเคมีของสารมากมายหลายชนิดรวมกันอยู่ในปริมาณมากน้อยต่างกันไป จึงไม่มีสารสังเคราะห์ใดที่สามารถสังเคราะห์หรือผสมผสานองค์ประกอบทางเคมีเลียนแบบธรรมชาติได้อย่างแท้จริง เพราะฉะนั้นการใช้น้ำมันหอมระเหยในสุคนธ์บำบัดจึงจำเป็นต้องเป็นน้ำมันหอมระเหยจากธรรมชาติเท่านั้น จะไม่ใช้น้ำมันหรือน้ำหอมสังเคราะห์ ซึ่งบางครั้งพบว่าประกอบด้ายสารพิษหรืออันตรายต่อร่างกาย

น้ำมันหอมระเหยเข้าสู่ร่างกายโดยการสูดดม โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยจะซึมผ่านเยื่อบุช่องจมูกหรือลงสู่ปอดและเข้าสู่กระแสเลือด โมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยที่สูดดมเข้าไปจะจับกับตัวรับ (receptor) บนเยื่อบุช่องจมูก (olfactory membrane) และแปรสัญญาณเป็นสื่อระบบประสาทหรือสัญญาณทางไฟฟ้าเคมี (electrochemical signals) ผ่านทาง olfactory nerve เข้าสู่ limbic system ในสมองซึ่งควบคุมความรู้สึกสัมผัส เพศ อารมณ์และระบบย่อยอาหาร มีผลกระตุ้นหรือระงับระบบประสาทและสมองรวมทั้งระบบต่อมไร้ท่อต่างๆด้วยแล้วแต่โครงสร้างทางเคมีของน้ำมันหอมระเหยชนิดนั้น ดังนั้นจึงถูกนำมาใช้บำบัดโรคเกี่ยวข้องกับอารมณ์และจิตใจตลอดจนการหลั่งฮอร์โมนบางชนิดด้วย

พบว่าบนเยื่อบุจมูก จะมีตัวรับที่เฉพาะเจาะจงต่อโมเลกุลของน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆ ซึ่งแปรผลไปยังสมองเพื่อจำไว้ ดังนั้นเราจึงสามารถแยกกลิ่นที่ต่างกันของน้ำมันหอมระเหยชนิดต่างๆได้ นอกจากตัวรับยังแปรผลเป็นสื่อประสาทที่ต่างกัน จึงมีผลกระตุ้นหรือผ่อนคลายสมองหรือระบบประสาทได้ เหตุนี้การใช้น้ำมันหอมระเหยจึงสามารถปรับสมดุลของอารมณ์และจิตใจได้ และถูกนำมาใช้เพื่อบำบัดอาการที่เกี่ยวข้องกับการทำงานของระบบประสาท สมอง หรือแม้กระทั่งการหลั่งของฮอร์โมนที่ถูกควบคุมโดยต่อมใต้สมองได้เช่นกัน เช่น อาการนอนไม่หลับ เครียดจากการทำงาน ปวดเกร็งกล้ามเนื้อซึ่งควบคุมโดยระบบประสาทอัตโนมัติ อาการไมแกรน อาการก่อนมีประจำเดือนซึ่งเกี่ยวข้องกับฮอร์โมนเพศ ตลอดจนกระตุ้นกำหนัด เป็นต้น

ผลของน้ำมันหอมระเหยต่อระบบอวัยวะของร่างกาย

น้ำมันหอมระเหยเมื่อเข้าสู่ร่างกาย จะมีผลต่อระบบอวัยวะต่างๆดังนี้

  • ระบบการไหลเวียนของโลหิต (Coronary and circulation system) น้ำมันหอมระเหยหลายชนิดมีผลกระตุ้นการไหลเวียนของโลหิต ทำให้หัวใจและสมองทำงานได้ดี และร่างกายขจัดของเสียออกทางไตได้มากขึ้น นอกจากนี้การมีโลหิตไหลเวียนที่ดียังช่วยเสริมภูมิต้านทานแก่ร่างกายด้วย
  • ระบบการทำงานของน้ำเหลือง (Lymphatic system) น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อการทำงานของระบบน้ำเหลือง น้ำเหลืองประกอบด้วยไขมัน โปรตีน และเม็ดเลือดขาวชื่อ lymphocytes ซึ่งเกี่ยวข้องกับภูมิคุ้มกันของร่างกาย ช่วยในการขจัดหรือต่อสู่กับเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมของร่างกาย
  • ระบบประสาท (Nervous system) ระบบประสาทส่วนกลาง (CNS) และระบบประสาทส่วนปลาย (PHS) น้ำมันหอมระเหยมีผลต่อร่างกายโดยผ่านระบบประสาทส่วนปลาย (olfactory nerve) ส่งสื่อสัญญาณไฟฟ้าเคมีไปยังสมอง (limbic system) จึงมีผลกระตุ้นความจำ อารมณ์และความรู้สึก ระบบประสาทส่วนปลายส่วนกลางเชื่อมต่อไปยังผิวหนังและกล้ามเนื้อ
  • ระบบต่อมไร้ท่อ (Endocrine system) ต่อมไร้ท่อต่างๆในร่างกายมีหน้าที่หลั่งฮอร์โมนเพื่อควบคุมการทำงานของอวัยวะต่างๆ ได้แก่ ต่อมพิทูอิทารี่ (pituitary) ต่อมไทรอยด์ (thyroid) ต่อมพาราไทรอยด์ (parathyroid) ต่อมเหนือมวกไต (adrenal cortex) ต่อมรังไข (ovarics) เทสทิส (testes) และตับอ่อน (pancreas) น้ำมันหอมระเหยบางชนิดทำหน้าที่เป็นฮอร์โมน (phytohormones) มีผลคลายฮอร์โมนในร่างกาย
  • ระบบกล้ามเนื้อ (Muscular system) น้ำมันหอมระเหยมีผลในการผ่อนคลายการตึงของกล้ามเนื้อ
  • ระบบการย่อยอาหาร (Digestive system) น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีผลผ่อนคลายกล้ามเนื้อเรียบในระบบย่อยอาหาร ช่วยลดแก็สที่คั่งค้าง มีผลช่วยขับลม
  • ระบบหายใจ (Respiratory system) ในปอดมีถุงลมเล็กๆทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซออกซิเจนและคาร์บอนไดออกไซด์ในร่างกาย โมเลกุลเล็กๆของน้ำมันหอมระเหยสามารถแทรกเข้าในถุงลมและเข้าสู่กระแสเลือดได้ สามารถแทรกซึมตามเนื้อเยื่อของทางเดินหายใจ ถ้าเป็นชนิดที่มีฤทธิ์ฆ่าเชื้อโรคและฆ่าไวรัส ผลเฉพาะที่ต่อทางเดินหายใจ นอกจากนี้บางชนิดยังมีผลคลายกล้ามเนื้อเรียบ ป้องกันการเกร็งของหลอดลมหรือช่วยขับเสมหะได้แล้วแต่โครงสร้างทางเคมีของโมเลกุลน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด
  • ระบบอวัยวะสืบพันธุ์ (Reproductive system) น้ำมันหอมระเหย ซึ่งมีผลต่อการทำงานของฮอร์โมนเพศหญิงหรือเพศชายได้ถูกนำมาใช้ในการบำบัดอาการผิดปกติจากฮอร์โมน เช่น วัยหมดประจำเดือนหรืออาการก่อนมีประจำเดือน ได้แก่ เครียด ปวดหลัง ท้องผูกหรือท้องเสียและผิวแห้ง เป็นต้น น้ำมันหอมระเหยบางชนิดมีผลทำให้มดลูกบีบตัว
  • ระบบโครงสร้างของร่างกาย (Skeletal system) น้ำมันหอมระเหยบางชนิด ช่วยสมานหรือสร้างกระดูกที่หักหรือการอักเสบตามข้อต่อต่างๆ

คุณสมบัติของน้ำมันหอมระเหยแต่ละชนิด